Share

หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี


หากได้มีโอกาสไปฝรั่งเศส สถานที่แห่งหนึ่งในปารีสที่อยากไปเยือนสักครั้งคือร้านขายหนังสือภาษาอังกฤษริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน ชื่อ เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี (Shakespeare and Company) https://www.facebook.com/pages/Shakespeare-and-Company-Bookshop/61320252422

ความน่าไปเยือนของร้านขายหนังสือแห่งนี้คงไม่ใช่แค่การเป็นร้านขายหนังสือ แต่มีอย่างอื่นที่มากไปกว่านั้น

"เจเรมี เมอร์เซอร์" อดีตนักข่าวอาชญากรรม ชาวแคนาดา http://www.jeremymercer.net/ หนึ่งในผู้ไปเยือนร้านขายหนังสือแห่งนี้ เขียนบอกเล่าประสบการณ์ของเขาในหนังสือชื่อ Time Was Soft There: A Paris Sojourn at Shakespeare & Co. ไว้ว่า เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี เป็นที่พักพิงของศิลปิน นักเขียน และผู้มีจิตวิญญาณขบถในปารีส ร้านนี้เริ่มต้นโดยซิลเวีย บีช ชาวอเมริกัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2462 บนถนนดูปูย์ทรอง ก่อนที่จะย้ายไปที่ถนนเดอ โลเดอ็ง ในปี 2465 และด้วยความไม่เหมือนใคร ทำให้เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี กลายเป็นศูนย์รวมของนักเขียนชาวอเมริกันและอังกฤษในปารีสยุคนั้น พวกเขามาหยิบยืมหนังสือ ถกประเด็นด้านวรรณกรรม และดื่มน้ำชาร้อนๆในห้องรับแขกหลังร้าน

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ บรรยายร้านเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ในความเรียงเรื่อง A Moveable Feast ไว้ว่า “สถานที่อบอุ่นและสดใส มีเตาอบใหญ่ในฤดูหนาว มีโต๊ะและชั้นหนังสือ หนังสือใหม่ๆที่หน้าร้าน และภาพถ่ายบนผนังเป็นรูปนักเขียนชื่อดัง ทั้งเป็นและตาย

เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ของบีช ปิดตัวลงในปี 2484 เมื่อนาซีเข้ายึดปารีส เฮมิงเวย์เป็นผู้มาประกาศอิสรภาพให้ด้วยตนเอง เมื่อเขาไปถึงปารีสพร้อมกับกองทัพอเมริกาในปี 2487 แต่บีชก็ไม่ได้กลับไปเปิดร้านนี้อีก

อีกหนึ่งทศวรรษต่อมา นักเขียนและนักฝันร่อนเร่ ชาวอเมริกันหัวรุนแรง นาม “จอร์จ วิตแมน” ได้เปิดร้านหนังสือลักษณะเดียวกันนี้บนฝั่งแม่น้ำแซนไม่ไกลจากร้านเดิมบนถนนเดอ โลเดอ็ง


Time Was Soft There: A Paris Sojourn at Shakespeare & Co. เล่าถึงร้านขายหนังสือแห่งใหม่นี้ว่า หลังจากที่จอร์จ วิตแมน ท่องไปทั่วโลกอยู่หลายปี เขาก็ตั้งหลักปักฐานที่ปารีสและลงเอยด้วยการเรียนวิชาอารยธรรมฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ จอร์จใช้ชีวิตในห้องเช่าราคาถูกของโรงแรมโอเตล เดอ ซูเอซ์ บนถนนแซงต์-มิเชล แต่ไม่นาน ห้องเช่าแห่งนี้ก็กลายเป็นห้องสมุดโดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจ

ตอนที่ย้ายมาอยู่ใหม่ๆ จอร์จทำกุญแจห้องหายและเลิกล็อคประตู เมื่อเขากลับมาถึงห้องเช่าก็พบคนแปลกหน้า 2 คนกำลังอ่านหนังสือของเขา เมื่อนึกพิจารณาความเชื่อเรื่องการแบ่งปันทรัพย์สมบัติและการใช้ชีวิตแบบอยู่ร่วมกันของเขา เหตุการณ์นี้ถือเป็นพัฒนาการที่น่าตื่นเต้น เป็นรากฐานอันเปราะบางแห่งการถือกำเนิดของร้านเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ของจอร์จ วิตแมน

เจเรมีเขียนไว้ว่า เมื่อเริ่มตั้งร้านหนังสือในเดือนสิงหาคม 2494 จอร์จตั้งชื่อร้านตามชื่อเล่นของแฟนสาวที่เขาคบอยู่ตอนนั้น เขาสร้างร้านตามคติของมาร์กซ์ที่ว่า “ให้เท่าที่ให้ได้ รับเท่าที่จำเป็น” นับตั้งแต่เปิดร้านวันแรก จอร์จตั้งเตียงไว้ที่หลังร้านสำหรับมิตรสหายที่ต้องการที่นอน มีซุปอุ่นๆสำหรับแขกผู้หิวโหย และมีหนังสือให้ยืมสำหรับผู้ที่ไม่มีเงิน กระทั่งปี 2507 ในวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดวิลเลียม เชกสเปียร์ จอร์จ วิตแมน ก็เปลี่ยนชื่อร้านเป็นเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี เขาเป็นสาวกของซิลเวีย บีช มานานและชื่นชอบชื่อเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงของจอร์จ วิตแมน และร้านหนังสือของเขาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ขยายตัวจนกระทั่งกินพื้นที่ทั้งสามชั้นของอาคารเป็น “หมึกยักษ์แห่งวรรณกรรม” ซึ่งในการขยายร้านแต่ละครั้ง จอร์จจะดูให้แน่ใจว่าเขาได้เพิ่มเตียงให้มากขึ้น เมื่อคราวที่เจเรมี เมอร์เซอร์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เข้าไปจิบน้ำชาในร้านเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี เมื่อเดือนมกราคม 2543 เขาเขียนไว้ว่า “จอร์จคุยฟุ้งไปทั่วว่าเขาเปิดร้านให้คนราว 4 หมื่นคนได้พักพิงพำนัก ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าประชากรในเมืองซาเลมที่เขาเติบโตขึ้นมาเสียอีก” ซึ่งหลังจากการเยือนในครั้งนั้น เจเรมี เมอร์เซอร์ ก็ตั้งใจจะเป็นคนต่อไป


Time Was Soft There: A Paris Sojourn at Shakespeare & Co. แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “ปารีส/พำนัก/คน/รัก/หนังสือ” โดย “ศรรวิศา” เป็นผู้แปล ส่วนบรรณาธิการคือ “อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง” ซึ่งสำนักพิมพ์กำมะหยี่ http://www.gammemagie.com/ ผู้พิมพ์ได้จัด “ปารีส/พำนัก/คน/รัก/หนังสือ” อยู่ในชุด “คนรักหนังสือ”

เนื้อหาในหนังสือเป็นเรื่องราวจากความทรงจำและบันทึกของเจเรมี เมอร์เซอร์ ในช่วงที่เขาต้องลี้ภัยจากแคนาดาบ้านเกิด มายังปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนได้มาพบกับ "เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี" ร้านหนังสือที่มีอะไรมากไปกว่าการขายหนังสือ ร้านหนังสือที่เปิดให้นักเขียนไส้แห้งจากทุกมุมโลกเข้าพัก นอกจากเรื่องราวภายในร้านหนังสือ เจเรมียังแทรกรายละเอียดเล็กน้อยเกี่ยวกับหนังสือดีๆน่าอ่านไว้หลายเล่ม

ทุกวันนี้ แม้ว่าเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี จะแตกต่างไปจากเดิม ซิลเวีย ลูกสาวของจอร์จเรียนจบและเข้ามาบริหารร้านหนังสือ จอร์จเสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 ในบ้านพักบนร้านของเขา หลังวันเกิดปีที่ 98 ของเขาเพียง 2 วัน และร้านหนังสือแห่งนี้ไม่ได้เป็นเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี อย่างที่เจเรมี เมอร์เซอร์ รู้จักก็ตาม

แต่เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ก็ยังเป็นร้านขายหนังสือที่หนอนหนังสือหลายคนอยากจะไปเยือนสักครั้ง รวมทั้งผมด้วย ที่ตั้งใจว่าคงมีโอกาสได้เป็นคนต่อไป..

--------------------------------

หมายเหตุ - เผยแพร่ครั้งแรก เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 มีนาคม 2557

 

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More