Share

หน้าเว็บ

Postcard เมืองแป้

.....

Phrae Observer

เว็บไซต์บอกเล่าเรื่องราวของเมืองแพร่ในฐานะผู้สังเกตการณ์

Instagram

เปิดชมและติดตามกันได้นะครับ (^.^)

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เอ็ดเวิร์ด ทูเลน ตามหาหัวใจไกลสุดฟ้า


ในซีรีส์เกาหลี เรามักได้เห็นหนังสือเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินเรื่อง อย่างเช่น เรื่อง Secret Garden (หรือในชื่อภาษาไทยว่า เสกฉันให้เป็นเธอ) ที่มีหนังสือเรื่อง The Little Mermaid เข้ามาเกี่ยวข้องกับความรักของคิมจูวอนและกิลราอิม

หรือในเรื่อง You Who Came From the Stars ที่มีตัวเอกของเรื่อง โทมินจุน เป็นมนุษย์ต่างดาว ซึ่งเดินทางมาที่โลกเมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว ก็มีฉากที่เขาอ่านหนังสือ   The Miraculous Journey of Edward Tulane  ก่อนนอนเสมอ จนทำให้หนังสือเล่มนี้ขายดิบขายดี โดยเฉพาะเล่มที่มีหน้าปกเหมือนกับในซีรีส์เรื่องนี้

The Miraculous Journey of Edward Tulane เป็นวรรณกรรมเยาวชน ที่ “เคท ดิคามิลโล” (Kate DiCamillo) นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชาวอเมริกันเป็นผู้เขียน และได้ “บักแกรม อิบาทูลลีน” (Bagram Ibatoulline) วาดภาพประกอบ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2549 ก่อนที่สำนักพิมพ์ Pet & Home www.petandhome.com จะนำมาตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมปีเดียวกัน โดยฝีมือการแปลของ “งามพรรณ เวชชาชีวะ” ในชื่อ “เอ็ดเวิร์ด ทูเลน ตามหาหัวใจไกลสุดฟ้า” ใช้ภาพหน้าปกเหมือนกับในซีรีส์เรื่อง  You Who Came From the Stars


หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของตุ๊กตากระต่าย ที่เกือบทั้งตัวทำจากกระเบื้องเคลือบ ชื่อ “เอ็ดเวิร์ด ทูเลน” ซึ่งคิดอยู่เสมอว่าตัวเองเป็นวัตถุชิ้นพิเศษ อาศัยอยู่กับเด็กผู้หญิงอายุ 10 ปี ชื่อ “อะบิลีน” ซึ่งมองเขาเป็นสิ่งมีค่าเช่นกัน

แล้วก็เกิดเรื่องไม่คาดคิด เมื่อเอ็ดเวิร์ดต้องพลัดพรากจากอะบิลีน และต้องผจญภัยกับเรื่องราวต่างๆมากมาย เริ่มจากการจมดิ่งลงก้นมหาสมุทรจนมาสู่ครอบครัวของชาวประมง แล้วก็ไปอยู่ในกองขยะกระทั่งได้ไปเป็นที่รู้จักอยู่ริมกองไฟของคนพเนจร และมาสู่อ้อมกอดของเด็กหญิงที่ป่วยหนัก

เรื่องราวการเดินทาง ความรัก และการพลัดพราก หลายครั้งหลายหนของเอ็ดเวิร์ด ทำให้เขาหมดหวังและพร้อมที่จะปิดตายหัวใจให้หยุดนิ่ง แต่แล้วก็ยังมีปาฏิหาริย์ที่ทำให้ผู้อ่านเห็นว่า แม้แต่หัวใจที่แตกสลายได้ง่ายที่สุดก็ยังเรียนรู้ที่จะรักได้อีกครั้ง

ปกหลังหนังสือภาคภาษาไทย พิมพ์คำบอกเล่าของ เคท ดิคามิลโล ผู้เขียน ไว้ว่า “คริสต์มาสปีหนึ่ง ฉันได้ของเล่นตุ๊กตากระต่ายสวมเสื้อผ้าโก้หรูเป็นของขวัญ สองสามวันต่อมา ฉันฝันว่ากระต่ายตัวนี้นอนคว่ำหน้าอยู่ก้นมหาสมุทร พลัดหลงจากเจ้าของและรอให้คนไปพบ ตอนเล่านิทานเรื่องนี้ ตัวฉันเองก็พลัดหลงอยู่นานเช่นกัน ก็เหมือนกับเอ็ดเวิร์ด ฉันก็กลับสู่อ้อมอกเดิมได้”


ส่วนนักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2549 งามพรรณ เวชชาชีวะ ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ บอกเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อ The Miraculous Journey of Edward Tulane ไว้ว่า “ยิ่งอ่านหลายรอบก็ยิ่งพบว่าผู้เขียนซ่อนแง่มุมความรู้สึกละเอียดอ่อนไว้ได้อย่างสวยงาม เสียน้ำตาไปเยอะตอนแปล หวังว่าผู้อ่านจะถูกใจและมีกำลังใจที่จะตามหาความรักเหมือนเอ็ดเวิร์ด”

ท้ายที่สุดแล้ว อะไรคือปาฏิหาริย์ที่ทำให้หัวใจที่แตกสลายของเอ็ดเวิร์ด ทูเลน กลับมาเรียนรู้ที่จะรักได้อีกครั้ง เอ็ดเวิร์ดจะกลับสู่อ้อมอกเดิมได้หรือไม่อย่างไร และมีแง่มุมความรู้สึกละเอียดอ่อนอะไรที่ซ่อนไว้ในเรื่องนี้ ลองไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันได้นะครับ

ส่วนจะอ่านภาคภาษาไทยหน้าปกเหมือนกับที่โทมินจุนอ่านก่อนนอน อดใจรอกันสักพักนะครับ หลังจากหน้าปกเหมือนในซีรีส์จำหน่ายหมดไปแล้ว ขณะนี้ สำนักพิมพ์  Pet & Home เตรียมจัดจำหน่ายหน้าปกนี้อีกครั้งในรูปแบบ Limited Edition ปกแข็งสันโค้ง พร้อมภาพประกอบสี่สีภายในเล่ม ใครสนใจ ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์นะครับ..

-----------------------------------

หมายเหตุ - เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ประชาชาติออนไลน์ วันที่ 8 พฤษภาคม 2557

ฟิ ล์ ม ห่ ว ย

เสน่ห์อย่างหนึ่งของกล้องฟิล์มคือ เราไม่มีทางทราบได้เลยว่าภาพจะออกมาดีหรือไม่ จนกว่าเราจะล้างฟิล์มและอัดภาพออกมาแล้ว ผลที่ออกมาหลังลั่นชัตเตอร์ก็คงมีเพียงความทรงจำที่มีต่อภาพที่เราบันทึกไว้เท่านั้น

นั่นคงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนหลงรักกล้องฟิล์มและมีความสุขที่ได้เฝ้ารอคอยให้ฟิล์มสักม้วนได้ผ่านกระบวนการเคมี จนได้เห็นภาพที่ออกมาแล้วหวนคิดถึงความทรงจำเมื่อตอนถ่ายภาพ ยิ่งคนเล่นกล้องฟิล์มแล้วมีโอกาสล้างและอัดภาพเองในห้องมืด ยิ่งสนุกและลุ้นเมื่อภาพค่อยๆปรากฏขึ้นบนกระดาษอัดภาพต่อหน้าต่อตาเราเอง

อย่างไรก็ตาม การถ่ายภาพก็ย่อมมีข้อผิดพลาดกันได้ หลังจากล้างฟิล์มและอัดภาพออกมาแล้ว ก็มักจะมีบางภาพที่เราคิดว่าไม่สวย หรือเกิดความผิดพลาด จนเรามองว่าภาพเหล่านั้น “ห่วย” ไม่อยากเอาออกไปโชว์ให้ใครๆเห็น เราอาจเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำของเราเอง หรือเอาไว้เป็นบทเรียนสอนเราว่า ต่อไปต้องระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดนั้นอีก แม้แต่เวลาถ่ายภาพโดยใช้กล้องดิจิตอลก็มีหลายภาพที่เรามองว่าห่วย ง่ายกว่าตรงที่มีปุ่มลบภาพ แต่กล้องฟิล์มไม่มี





แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปนาน ใครบางคนได้หวนกลับไปดูความห่วยของภาพจากกล้องฟิล์มของเขา จากภาพที่ไม่เคยกล้าให้ใครดู กลับเกิดความรู้สึกไม่ต้องการให้จางหายไปจากความทรงจำ เขาจึงสร้างอัลบั้มภาพห่วยๆจากกล้องฟิล์มใน facebook ของตัวเอง ที่ชื่อว่า ก.กล้องเก่า ถึงยุค www.facebook.com/galalof ซึ่งต่อมามีคนมาสนใจมากขึ้น ทำให้เขาตัดสินใจตั้ง facebook fanpage ขึ้น ชื่อ ฟิ ล์ ม ห่ ว ย www.facebook.com/FILMfailz ภายใต้สโลแกนที่ว่า “เพราะเมื่อก่อน เราตีค่าว่ามัน 'ห่วย'





แรงบันดาลใจของ ก.กล้องเก่า ถึงยุค ในการนำภาพที่เคยคิดว่า “ห่วย” มาแสดงให้คนอื่นได้ชมกันนั้น เขาบอกว่า “เมื่อก่อน ผมตีค่าว่า มันห่วยครับ เลยไม่กล้าเอาให้ใครดู แต่พอเราได้กลับมามองดูมันอีกที ผมรู้สึกว่าภาพทุกภาพมีเรื่องราว มีความเป็นธรรมชาติ รูปบางรูปถึงมันจะห่วยจนดูไม่รู้เรื่อง แต่จะมีคนนึงที่เห็นชัดในความทรงจำ คือผู้ถ่ายภาพใบนั้น จนรู้สึกว่าไม่อยากให้มันจางหายไปจากความทรงจำ เลยสร้างอัลบั้มมาลงดูเล่นเองก่อน

แต่ลงไปลงมา คนสนใจเยอะ ผมเลยคาดได้ว่า ยังมีคนแบบผม ที่ไม่กล้าลงรูปห่วยๆอีกเยอะ ผมเลยตั้งเพจขึ้นมาครับ

เพจ ฟิ ล์ ม ห่ ว ย เพิ่งตั้งได้ไม่นาน มีสมาชิกหลังจากตั้งได้ 1 สัปดาห์จำนวน 1,400 คน โดยเพจจะเปิดโอกาสให้ทุกคน “ร่วมห่วย” ด้วยการนำภาพจากกล้องฟิล์มที่เคยไม่กล้าให้ใครดู เอามาแบ่งปันกัน โดยเพจนี้จะถือว่า คำว่า “ห่วย” คือคำชม





และ ฟิ ล์ ม ห่ ว ย ได้รวมห่วยยอดฮิตไว้ 7 ข้อ คือ
1.ห่วยนิ้วบัง
2.ห่วยเบลอเบลอ
3.ห่วยสิ้นคิด (ไม่รู้จะถ่ายอะไร กดให้หมดๆ อยากล้าง)
4.ห่วยนิ้วลั่น
5.ห่วยฝาปิด
6.ห่วยเปิดฝา
7.ห่วยภาพไหว (สปีดต่ำอย่าฝืน)





และได้สรุปไว้ว่า “ส่วนมากจะเกิดจากการใช้กล้อง RF หรือ กล้องคอมแพ็ค กล้องทอยต่างๆ ที่ช่องมองภาพไม่ได้สะท้อนภาพมาจากเลนส์ แบบกล้องSLR ทำให้เราไม่รู้เลยว่า นิ้วบัง เปิดฝาปิดเลนส์ หรือโฟกัสเข้ารึยัง (เพราะส่วนมากกล้องทอยและคอมแพ็ค จะเป็นกะระยะโฟกัสเอง แบบโซนโฟกัส จึงทำให้มีโอกาส โฟกัสวืดสูง) ส่วน 3 / 4 / 6 / 7 อันนี้โทษกล้องไม่ได้ เพราะคุณมัน ‘ห่วย’ เอง”

ใครที่มีภาพจากกล้องฟิล์มที่คุณเคยตีค่ามันว่า “ห่วย” และไม่กล้าให้ใครชม ลองแบ่งปัน “ร่วมห่วย” ได้ หรือใครที่ไม่มีภาพ แต่อยากไปชมความห่วย ก็เข้าไปกัน อย่างที่แอดมินเพจนี้เขาโฆษณาเอาไว้ว่า “ต่อไปเราจะได้ลงรูปอย่างไม่เขินอายกันแล้วครับ ไปร่วมลงรูปห่วยๆกันในนี้ดีกว่า” และ “จงรักษาความห่วย...ดุจเกลือรักษาความเค็ม”

---------------------------

หมายเหตุ - เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ประชาชาติออนไลน์ วันที่ 24 เมษายน 2557

VSCO Cam เปลี่ยนดิจิตอลกลับสู่ภาพฟิล์ม

ผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ ก็มักจะมองหาแอปพลิเคชันเกี่ยวกับรูปภาพมาไว้ในมือถือ ซึ่งแอปเหล่านี้ก็มีมากมายหลากหลายให้เลือกใช้กัน ทั้งแบบตกแต่งทั่วไป แบบลงลึกในรายละเอียด หรือแบบใช้ฟิลเตอร์สำเร็จรูป

หนึ่งในแอปที่ผมติดใจ และใช้เป็นประจำในช่วงนี้ คือ VSCO Cam® ครับ

VSCO Cam® เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้ตกแต่งภาพถ่ายของเราให้มีสีสันออกมาเหมือนภาพที่ได้จากกล้องฟิล์ม มีเว็บไซต์หลักอยู่ที่ http://vsco.co/vscocam





เมื่อโหลดและติดตั้งในมือถือแล้ว เรามาลองใช้งานกัน





ในหน้าแรกเมื่อเปิดแอปจะเจอเมนูหลักการใช้งาน ถ้าเรามีภาพอยู่ในเครื่องแล้ว ก็กดเลือกที่ LIBRARY แล้วกดที่ปุ่ม + เพื่อเพิ่มภาพ หรือจะใช้เมนู CAMERA เพื่อถ่ายภาพใหม่มาก็ได้








เมื่อได้ภาพมาแล้วก็กดลงที่ภาพอีกครั้ง ให้มีกรอบสีเหลืองขึ้นมาและมีเมนูให้เลือกด้านล่าง กดเลือกที่รูปเครื่องมือเพื่อแต่งภาพกัน ซึ่งภายในเมนูนี้จะมีฟิลเตอร์ที่มาพร้อมแอปฯจำนวนหนึ่ง





แต่หากต้องการเพิ่มมากกว่านี้ก็โหลดได้ที่เมนู STORE ซึ่งมีทั้งฟรีและจ่ายเงิน ทั้งแบบรวมขายเป็นชุดหรือแยกขาย และนอกจากการแต่งภาพโดยใช้ฟิลเตอร์สำเร็จรูปแล้ว ก็ยังมีเครื่องมือตกแต่งเองตามที่เราต้องการครับ





เมื่อแต่งภาพเสร็จแล้วก็เลือกแชร์ไปยังโซเชียลมีเดียของแอปนี้คือ GRID http://grid.vsco.co หรือจะแชร์ไปที่อื่นก็ได้ครับ ทั้ง Instagram, Facebook, Twitter





ใครที่ชื่นชอบภาพแนวนี้ก็ลองโหลดมาใช้งานกัน ใช้ได้ทั้งระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส ไปเที่ยวสงกรานต์รอบนี้ ลองถ่ายแล้วแต่งภาพแบบกล้องฟิล์มกันดูนะครับ ใครลองแล้ว เอาภาพมาแชร์กันได้ ที่ www.facebook.com/DekchildKongCom ครับ





---------------------------

หมายเหตุ - เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ประชาชาติออนไลน์ วันที่ 8 เมษายน 2557

วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557

ร้อยเรื่อง ภาพเมืองแพร่

ใกล้จะถึงเทศกาลสงกรานต์กันแล้ว หลายๆคนคงวางแผนที่จะไปเที่ยวหรือกลับบ้านไปพบปะพี่น้องพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว

สถานที่ที่นิยมไปท่องเที่ยวกันมากก็เป็นจังหวัดในภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ ในงาน “ประเพณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่”

ส่วนที่ จ.แพร่ ประตูสู่ล้านนาเตรียมจัดงานต่อเนื่องยาว 13 วัน เริ่มกันตั้งแต่วันที่ 5 - 17 เมษายน เปียกกันตั้งแต่ต้นเดือนจนไปถึงเกือบท้ายเดือน มีทั้งงานตามประเพณีและขบวนแห่ในอำเภอต่างๆ ส่วนของจังหวัดปิดท้ายในวันที่ 17 เมษายน

นอกเหนือไปจากงานสงกรานต์แล้ว ในช่วงเดือนเมษาหน้าร้อนนี้ ภายใน จ.แพร่ก็ยังมีงานแสดงภาพถ่ายไว้ให้ผู้มาแอ่วได้ไปยลกัน


งานนี้ไม่ได้จัดโดยหน่วยงานราชการครับ แต่เป็นความร่วมมือกันของช่างภาพทั้งอาชีพและสมัครเล่น ในนามกลุ่ม “คนเมืองแป้ถ่ายฮูปเอาม่วนhttps://www.facebook.com/groups/108253759328218 ร่วมกับจินเจอร์เบรดเฮ้าส์ คาเฟ่แอนด์แกลลอรี่ https://www.facebook.com/GingerbreadHouseGallery โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ เทศบาลเมืองแพร่ ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ และฮ่อม คาเฟ่ https://www.facebook.com/pages/hhom-Cafe/251575364904318

กลุ่ม “คนเมืองแป้ถ่ายฮูปเอาม่วน” เป็นการรวมตัวกันของคนชอบถ่ายภาพใน จ.แพร่ มีเจตนารมณ์ในการตั้งกลุ่มเพื่อถ่ายภาพและนำภาพมาแบ่งปันกันชม โดยไม่จำเป็นต้องเป็นมือโปร ไม่ต้องสวย ไม่ต้องเก่ง
วมตัวกันมานานก็นึกครึ้มต้องการจะเผยแพร่ภาพถ่ายเมืองแพร่ ที่มาจากมุมมองของคนแพร่และสื่อออกมาเป็นเรื่องราวให้แก่ผู้ชม ภายใต้ชื่อ “ร้อยเรื่อง ภาพเมืองแพร่” โดยภาพที่นำมาจัดแสดงมีทั้งสิ้น 46 ภาพ ทั้งภาพแหล่งท่องเที่ยว ธรรมชาติ และวิถีชีวิตของคนแพร่

สงกรานต์ปีนี้ ถ้าใครมาแอ่วเหนือแล้วได้แวะเมืองแพร่ ขอเชิญมาชมนิทรรศการภาพถ่าย “ร้อยเรื่อง ภาพเมืองแพร่” กันได้นะครับ 
ที่จินเจอร์เบรดเฮ้าส์ คาเฟ่แอนด์แกลลอรี่ ถนนเจริญเมือง ตรงสี่แยกสถานีตำรวจเมืองแพร่ เปิดให้ชมกันตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนนี้เป็นต้นไป 
 

–----------------------
หมายเหตุ - เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ประชาชาติออนไลน์ วันที่ 2 เมษายน 2557

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี


หากได้มีโอกาสไปฝรั่งเศส สถานที่แห่งหนึ่งในปารีสที่อยากไปเยือนสักครั้งคือร้านขายหนังสือภาษาอังกฤษริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน ชื่อ เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี (Shakespeare and Company) https://www.facebook.com/pages/Shakespeare-and-Company-Bookshop/61320252422

ความน่าไปเยือนของร้านขายหนังสือแห่งนี้คงไม่ใช่แค่การเป็นร้านขายหนังสือ แต่มีอย่างอื่นที่มากไปกว่านั้น

"เจเรมี เมอร์เซอร์" อดีตนักข่าวอาชญากรรม ชาวแคนาดา http://www.jeremymercer.net/ หนึ่งในผู้ไปเยือนร้านขายหนังสือแห่งนี้ เขียนบอกเล่าประสบการณ์ของเขาในหนังสือชื่อ Time Was Soft There: A Paris Sojourn at Shakespeare & Co. ไว้ว่า เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี เป็นที่พักพิงของศิลปิน นักเขียน และผู้มีจิตวิญญาณขบถในปารีส ร้านนี้เริ่มต้นโดยซิลเวีย บีช ชาวอเมริกัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2462 บนถนนดูปูย์ทรอง ก่อนที่จะย้ายไปที่ถนนเดอ โลเดอ็ง ในปี 2465 และด้วยความไม่เหมือนใคร ทำให้เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี กลายเป็นศูนย์รวมของนักเขียนชาวอเมริกันและอังกฤษในปารีสยุคนั้น พวกเขามาหยิบยืมหนังสือ ถกประเด็นด้านวรรณกรรม และดื่มน้ำชาร้อนๆในห้องรับแขกหลังร้าน

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ บรรยายร้านเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ในความเรียงเรื่อง A Moveable Feast ไว้ว่า “สถานที่อบอุ่นและสดใส มีเตาอบใหญ่ในฤดูหนาว มีโต๊ะและชั้นหนังสือ หนังสือใหม่ๆที่หน้าร้าน และภาพถ่ายบนผนังเป็นรูปนักเขียนชื่อดัง ทั้งเป็นและตาย

เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ของบีช ปิดตัวลงในปี 2484 เมื่อนาซีเข้ายึดปารีส เฮมิงเวย์เป็นผู้มาประกาศอิสรภาพให้ด้วยตนเอง เมื่อเขาไปถึงปารีสพร้อมกับกองทัพอเมริกาในปี 2487 แต่บีชก็ไม่ได้กลับไปเปิดร้านนี้อีก

อีกหนึ่งทศวรรษต่อมา นักเขียนและนักฝันร่อนเร่ ชาวอเมริกันหัวรุนแรง นาม “จอร์จ วิตแมน” ได้เปิดร้านหนังสือลักษณะเดียวกันนี้บนฝั่งแม่น้ำแซนไม่ไกลจากร้านเดิมบนถนนเดอ โลเดอ็ง


Time Was Soft There: A Paris Sojourn at Shakespeare & Co. เล่าถึงร้านขายหนังสือแห่งใหม่นี้ว่า หลังจากที่จอร์จ วิตแมน ท่องไปทั่วโลกอยู่หลายปี เขาก็ตั้งหลักปักฐานที่ปารีสและลงเอยด้วยการเรียนวิชาอารยธรรมฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ จอร์จใช้ชีวิตในห้องเช่าราคาถูกของโรงแรมโอเตล เดอ ซูเอซ์ บนถนนแซงต์-มิเชล แต่ไม่นาน ห้องเช่าแห่งนี้ก็กลายเป็นห้องสมุดโดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจ

ตอนที่ย้ายมาอยู่ใหม่ๆ จอร์จทำกุญแจห้องหายและเลิกล็อคประตู เมื่อเขากลับมาถึงห้องเช่าก็พบคนแปลกหน้า 2 คนกำลังอ่านหนังสือของเขา เมื่อนึกพิจารณาความเชื่อเรื่องการแบ่งปันทรัพย์สมบัติและการใช้ชีวิตแบบอยู่ร่วมกันของเขา เหตุการณ์นี้ถือเป็นพัฒนาการที่น่าตื่นเต้น เป็นรากฐานอันเปราะบางแห่งการถือกำเนิดของร้านเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ของจอร์จ วิตแมน

เจเรมีเขียนไว้ว่า เมื่อเริ่มตั้งร้านหนังสือในเดือนสิงหาคม 2494 จอร์จตั้งชื่อร้านตามชื่อเล่นของแฟนสาวที่เขาคบอยู่ตอนนั้น เขาสร้างร้านตามคติของมาร์กซ์ที่ว่า “ให้เท่าที่ให้ได้ รับเท่าที่จำเป็น” นับตั้งแต่เปิดร้านวันแรก จอร์จตั้งเตียงไว้ที่หลังร้านสำหรับมิตรสหายที่ต้องการที่นอน มีซุปอุ่นๆสำหรับแขกผู้หิวโหย และมีหนังสือให้ยืมสำหรับผู้ที่ไม่มีเงิน กระทั่งปี 2507 ในวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดวิลเลียม เชกสเปียร์ จอร์จ วิตแมน ก็เปลี่ยนชื่อร้านเป็นเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี เขาเป็นสาวกของซิลเวีย บีช มานานและชื่นชอบชื่อเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงของจอร์จ วิตแมน และร้านหนังสือของเขาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ขยายตัวจนกระทั่งกินพื้นที่ทั้งสามชั้นของอาคารเป็น “หมึกยักษ์แห่งวรรณกรรม” ซึ่งในการขยายร้านแต่ละครั้ง จอร์จจะดูให้แน่ใจว่าเขาได้เพิ่มเตียงให้มากขึ้น เมื่อคราวที่เจเรมี เมอร์เซอร์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เข้าไปจิบน้ำชาในร้านเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี เมื่อเดือนมกราคม 2543 เขาเขียนไว้ว่า “จอร์จคุยฟุ้งไปทั่วว่าเขาเปิดร้านให้คนราว 4 หมื่นคนได้พักพิงพำนัก ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าประชากรในเมืองซาเลมที่เขาเติบโตขึ้นมาเสียอีก” ซึ่งหลังจากการเยือนในครั้งนั้น เจเรมี เมอร์เซอร์ ก็ตั้งใจจะเป็นคนต่อไป


Time Was Soft There: A Paris Sojourn at Shakespeare & Co. แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “ปารีส/พำนัก/คน/รัก/หนังสือ” โดย “ศรรวิศา” เป็นผู้แปล ส่วนบรรณาธิการคือ “อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง” ซึ่งสำนักพิมพ์กำมะหยี่ http://www.gammemagie.com/ ผู้พิมพ์ได้จัด “ปารีส/พำนัก/คน/รัก/หนังสือ” อยู่ในชุด “คนรักหนังสือ”

เนื้อหาในหนังสือเป็นเรื่องราวจากความทรงจำและบันทึกของเจเรมี เมอร์เซอร์ ในช่วงที่เขาต้องลี้ภัยจากแคนาดาบ้านเกิด มายังปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนได้มาพบกับ "เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี" ร้านหนังสือที่มีอะไรมากไปกว่าการขายหนังสือ ร้านหนังสือที่เปิดให้นักเขียนไส้แห้งจากทุกมุมโลกเข้าพัก นอกจากเรื่องราวภายในร้านหนังสือ เจเรมียังแทรกรายละเอียดเล็กน้อยเกี่ยวกับหนังสือดีๆน่าอ่านไว้หลายเล่ม

ทุกวันนี้ แม้ว่าเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี จะแตกต่างไปจากเดิม ซิลเวีย ลูกสาวของจอร์จเรียนจบและเข้ามาบริหารร้านหนังสือ จอร์จเสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 ในบ้านพักบนร้านของเขา หลังวันเกิดปีที่ 98 ของเขาเพียง 2 วัน และร้านหนังสือแห่งนี้ไม่ได้เป็นเชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี อย่างที่เจเรมี เมอร์เซอร์ รู้จักก็ตาม

แต่เชกสเปียร์ แอนด์ คัมพานี ก็ยังเป็นร้านขายหนังสือที่หนอนหนังสือหลายคนอยากจะไปเยือนสักครั้ง รวมทั้งผมด้วย ที่ตั้งใจว่าคงมีโอกาสได้เป็นคนต่อไป..

--------------------------------

หมายเหตุ - เผยแพร่ครั้งแรก เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 มีนาคม 2557

 

วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ


ทุกวันนี้ เรามักได้ยินการอ้างถึงสถิติในเรื่องราวต่างๆมากมาย คิดอย่างนั้นไหมครับ

สถิติไม่ได้ใช้ในโฆษณาเพียงอย่างเดียว ในบทความทางวิชาการ ข่าวสารด้านต่างๆ สื่อประชาสัมพันธ์ การโต้เถียงกัน ก็มักได้เห็นการอ้างถึงสถิติ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือกัน

ทั้งแบบโพลที่รวดเร็วทันใจ ออกเดินสำรวจกัน 2-3 วัน แล้วนำมาประมวลผลและเผยแพร่กันแล้ว รูปแบบคำถามที่ใช้มีทั้งปลายเปิด ปลายปิด หรือในรูปแบบงานวิจัยทั้งจากนักวิชาการ และบางครั้งก็บอกว่ามาจากมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้เปิดเผยชื่อคนทำวิจัย

และบางครั้ง เราอาจได้เห็นสถิติที่อ้างว่ายืนยันจากผู้ใช้ เช่น “น้ำมันถังเดียว วิ่งจากเหนือลงใต้” แต่ก็ไม่บอกข้อมูลทั้งหมดว่าขับแบบไหน ความเร็วเท่าไร หรือข้อความที่ว่า “ได้รับการยอมรับจากแพทย์ผิวหนังทั่วโลก” แต่ก็ไม่ได้บอกว่ากี่คน อาจจะประเทศละคนก็น่าจะอ้างว่าทั่วโลกได้เหมือนกันนะครับ

การใช้ลูกเล่นทางสถิติแบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานแล้ว และมีหนังสือคลาสสิคขายดีที่เขียนถึงเรื่องนี้ไว้เมื่อ 60 ปีที่แล้ว และปัจจุบันก็ยังเป็นหนังสือขายดีอยู่

หนังสือที่ว่าคือ How to Lie with Statistics มี Darrell Huff บรรณาธิการและนักเขียนอิสระ ซึ่งเคยศึกษาเพิ่มเติมในสาขาจิตวิทยาสังคม ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสถิติและการทดสอบทางความคิด เป็นผู้เขียนไว้เมื่อปี ค..1954 หรือในปี 2497

ล่าสุด สำนักพิมพ์วีเลิร์น www.welearnbook.com นำมาพิมพ์ในรูปแบบภาษาไทยในชื่อ “วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ” มีนาถกมล บุญรอดพานิช เป็นผู้แปล และพูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ เป็นบรรณาธิการ

หนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าถึงวิธีการนำเอาตัวเลขทางสถิติมาใช้เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิด และใช้เพื่อการชักจูงใจคน ทั้งจากฝีมือของนักสถิติเอง หรือจากการดัดแปลง แต่งเติม สรุปให้ง่ายเกินจริง หรือหยิบยกมาแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง จากฝีมือของนักขาย นักประชาสัมพันธ์ นักข่าว หรือนักโฆษณา

วิธีการเหล่านั้นก็เช่น การใช้หรือเจอกับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นกลาง, การใช้ค่าเฉลี่ยคนละแบบ เพื่อโน้มน้าวใจคนในสถานการณ์ต่างๆกัน, การใช้แผนภูมิ, การแรเงาแผนที่

ในบทสรุปของเล่ม Darrell Huff ได้อธิบายผู้อ่านให้ทราบถึง “วิธีการมองสถิติจอมปลอมให้ทะลุปรุโปร่งและจัดการกับมันให้อยู่หมัด และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือสอนวิธีแยกแยะข้อมูลที่น่าเชื่อถือและใช้ประโยชน์ได้จริงออกจากเล่ห์กลทั้งหลาย” ซึ่งเขาบอกว่าสิ่งนี้เป็นจุดประสงค์ที่แท้จริงของหนังสือเล่มนี้

และถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็เหมือนเขาเป็น “โจรกลับใจที่พยายามถ่ายทอดวิธีการและประสบการณ์สะเดาะกุญแจและย่องเบาในอดีตให้แก่ผู้อ่านทุกคน เพื่อศึกษาไว้ป้องกันตนเอง

ช่วงนี้ มีการอ้างอิงสถิติกันมากช่วงหนึ่ง เราลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันก็น่าจะดีนะครับ เผื่อจะช่วยให้วิเคราะห์และแยกแยะได้ว่า เรื่องราวที่นำสถิติมาอ้างอิงนั้น

น่าเชื่อถือและมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด..

-----------------------------

หมายเหตุ - เผยแพร่ครั้งแรก เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557


วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

หลงเสน่ห์กล้องฟิล์ม




ท่ามกลางการเติบโตของกล้องถ่ายรูประบบดิจิตอล หลายคนคงคิดว่า กล้องฟิล์มคงกลายเป็นวัตถุโบราณในตู้โชว์หรือเพียงวางสวยๆประดับอยู่ที่ร้านกาแฟ

วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ภาพขุนสถานจากกล้องฟิล์ม Nikon FM


ภาพถ่ายจากกล้องฟิล์มมาแบบไม่เต็มใบ เพราะเป็นภาพจากต้นม้วน ส่วนที่เป็นสีขาวโดนแสงไปแล้วตอนบรรจุฟิล์ม

ภาพ 2 ชุดนี้ถ่ายที่ขุนสถาน เมื่อคราวขึ้นไปถ่ายภาพดอกพญาเสือโคร่ง เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2557

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More