Share

หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ


ทุกวันนี้ เรามักได้ยินการอ้างถึงสถิติในเรื่องราวต่างๆมากมาย คิดอย่างนั้นไหมครับ

สถิติไม่ได้ใช้ในโฆษณาเพียงอย่างเดียว ในบทความทางวิชาการ ข่าวสารด้านต่างๆ สื่อประชาสัมพันธ์ การโต้เถียงกัน ก็มักได้เห็นการอ้างถึงสถิติ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือกัน

ทั้งแบบโพลที่รวดเร็วทันใจ ออกเดินสำรวจกัน 2-3 วัน แล้วนำมาประมวลผลและเผยแพร่กันแล้ว รูปแบบคำถามที่ใช้มีทั้งปลายเปิด ปลายปิด หรือในรูปแบบงานวิจัยทั้งจากนักวิชาการ และบางครั้งก็บอกว่ามาจากมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้เปิดเผยชื่อคนทำวิจัย

และบางครั้ง เราอาจได้เห็นสถิติที่อ้างว่ายืนยันจากผู้ใช้ เช่น “น้ำมันถังเดียว วิ่งจากเหนือลงใต้” แต่ก็ไม่บอกข้อมูลทั้งหมดว่าขับแบบไหน ความเร็วเท่าไร หรือข้อความที่ว่า “ได้รับการยอมรับจากแพทย์ผิวหนังทั่วโลก” แต่ก็ไม่ได้บอกว่ากี่คน อาจจะประเทศละคนก็น่าจะอ้างว่าทั่วโลกได้เหมือนกันนะครับ

การใช้ลูกเล่นทางสถิติแบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานแล้ว และมีหนังสือคลาสสิคขายดีที่เขียนถึงเรื่องนี้ไว้เมื่อ 60 ปีที่แล้ว และปัจจุบันก็ยังเป็นหนังสือขายดีอยู่

หนังสือที่ว่าคือ How to Lie with Statistics มี Darrell Huff บรรณาธิการและนักเขียนอิสระ ซึ่งเคยศึกษาเพิ่มเติมในสาขาจิตวิทยาสังคม ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสถิติและการทดสอบทางความคิด เป็นผู้เขียนไว้เมื่อปี ค..1954 หรือในปี 2497

ล่าสุด สำนักพิมพ์วีเลิร์น www.welearnbook.com นำมาพิมพ์ในรูปแบบภาษาไทยในชื่อ “วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ” มีนาถกมล บุญรอดพานิช เป็นผู้แปล และพูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ เป็นบรรณาธิการ

หนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าถึงวิธีการนำเอาตัวเลขทางสถิติมาใช้เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิด และใช้เพื่อการชักจูงใจคน ทั้งจากฝีมือของนักสถิติเอง หรือจากการดัดแปลง แต่งเติม สรุปให้ง่ายเกินจริง หรือหยิบยกมาแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง จากฝีมือของนักขาย นักประชาสัมพันธ์ นักข่าว หรือนักโฆษณา

วิธีการเหล่านั้นก็เช่น การใช้หรือเจอกับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นกลาง, การใช้ค่าเฉลี่ยคนละแบบ เพื่อโน้มน้าวใจคนในสถานการณ์ต่างๆกัน, การใช้แผนภูมิ, การแรเงาแผนที่

ในบทสรุปของเล่ม Darrell Huff ได้อธิบายผู้อ่านให้ทราบถึง “วิธีการมองสถิติจอมปลอมให้ทะลุปรุโปร่งและจัดการกับมันให้อยู่หมัด และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือสอนวิธีแยกแยะข้อมูลที่น่าเชื่อถือและใช้ประโยชน์ได้จริงออกจากเล่ห์กลทั้งหลาย” ซึ่งเขาบอกว่าสิ่งนี้เป็นจุดประสงค์ที่แท้จริงของหนังสือเล่มนี้

และถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็เหมือนเขาเป็น “โจรกลับใจที่พยายามถ่ายทอดวิธีการและประสบการณ์สะเดาะกุญแจและย่องเบาในอดีตให้แก่ผู้อ่านทุกคน เพื่อศึกษาไว้ป้องกันตนเอง

ช่วงนี้ มีการอ้างอิงสถิติกันมากช่วงหนึ่ง เราลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันก็น่าจะดีนะครับ เผื่อจะช่วยให้วิเคราะห์และแยกแยะได้ว่า เรื่องราวที่นำสถิติมาอ้างอิงนั้น

น่าเชื่อถือและมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด..

-----------------------------

หมายเหตุ - เผยแพร่ครั้งแรก เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557


Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More