Share

หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

ช่างสงสัย

คอลัมน์ รหัสหนังสือ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๑


"..เหตุที่ต้องแปลกันคนละครึ่งนั้น สำนักพิมพ์ชี้แจงไว้ในคำนำว่า โตมรไม่ค่อยชอบเรื่องครึ่งหลัง.."


 คุณเคยคิดสงสัยเกี่ยวกับอะไรสักเรื่องบนโลกใบนี้หรือไม่ ?
 หลายคนคงเคย แต่อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป และอาจจะทุ่มเทเพื่อค้นหาคำตอบไม่เท่ากันด้วย
 สำหรับนักเขียนหนังสือท่องเที่ยว ระดับขายดี ชาวอเมริกา วัย 57 ปี นาม "บิล ไบรสัน" นั้น เขาสงสัยในโลกใบนี้อย่างมาก และทุ่มเทหาคำตอบถึง 3 ปี
 หลังค้นคว้าอยู่ 3 ปี บิล ไบรสัน ก็นำเรื่องราวที่เขารับรู้มาเผื่อแผ่ผู้อื่น เป็นหนังสือชื่อ "อะ ช็อต ฮีสโทะรี ออฟ เนียร์ลิ เอเวริทิง" (A Short History of Nearly Everything) ในปี 2546 ก่อนจะเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ขายดีปี 2548 ในอังกฤษ โดยขายได้มากกว่า 300,000 เล่ม
 ข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียระบุว่า หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลอะว็องติส (Aventis Prize) ในฐานะหนังสือวิทยาศาสตร์ทั่วไปยอดเยี่ยม เมื่อปี 2547 และจากนั้นอีกปี หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลอียู เดส์การ์ตส์ (EU Descartes Prize)
 เมื่อเป็นหนังสือที่ดีเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีผู้นำมาแปลเป็นภาษาไทยให้เราได้อ่านกัน นั่นคือ สำนักพิมพ์วงกลม ซึ่งได้ "โตมร ศุขปรีชา" และ "วิลาวัลย์ ฤดีศานต์" มาช่วยกันแปลคนละครึ่ง ในชื่อภาษาไทยว่า "ประวัติย่อของเกือบทุกสิ่ง" พิมพ์ครั้งแรกเดือนมกราคม 2551 ความหนา 605 หน้า ราคา 360 บาท
 เหตุที่ต้องแปลกันคนละครึ่งนั้น สำนักพิมพ์ชี้แจงไว้ในคำนำว่า โตมรไม่ค่อยชอบเรื่องครึ่งหลัง
 แล้วครึ่งแรกกับครึ่งหลังต่างกันอย่างไร จึงทำให้โตมรไม่ชอบ ?
 ครึ่งแรก บทที่ 1-15 เป็นเรื่องเกี่ยวกับจักรวาลและโลกเป็นส่วนใหญ่ เช่น กำเนิดของจักรวาล การวัดขนาดของสิ่งต่างๆ รวมไปถึงการวัดขนาดของโลก ซึ่งนำไปสู่บทสรุปที่ว่า โลกไม่ได้กลมทั้งใบ แต่มีแบนบ้างเล็กน้อย
 ส่วนครึ่งหลัง บทที่ 16-30 นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ เช่น การกำเนิดของชีวิต จนไปถึงการสูญพันธุ์ของหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความโหดร้ายและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมไปถึงความโง่เขลาของมนุษย์
 แม้จะหนาถึง 600 กว่าหน้า แต่กลับอ่านง่ายและสนุก บางครั้ง ก็อดจะหัวเราะออกมาดังๆ ไม่ได้ และบางเรื่องก็ทำให้ขนลุกขึ้นมาได้อย่างร้ายกาจ
 อ่านแล้วยิ่งทำให้รับรู้มากขึ้นว่า คนในอีกหลายประเทศสนใจใคร่รู้เรื่องราวในโลกใบนี้ พวกเขาทุ่มเทและถกเถียงเพื่อค้นหาคำตอบมานานแล้ว จนนำไปสู่การพัฒนา
 ในขณะที่คนในประเทศชาติของเรายังไม่เลิกทะเลาะกัน ยังนั่งเถียงกันในเรื่องไม่เป็นเรื่องบางเรื่อง ไม่รู้จักจบสักที จนบางประเทศที่เคยตามท้าย วิ่งแซงหน้าไปแล้ว..


-----------------------


Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More